โปงลาง คือ ระนาดพื้นเมืองอีสาน  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะทำ ทำนองและจังหวะไปพร้อมกัน ลูกระนาดทำจากไม้ท่อนขนาดลำแขน เป็นตัด กลึง และถากตกแต่งเทียบเสียงดนตรี โด , เร , มี , โซ , ลาเรียงเสียงลำดับจากต่ำไปสูงได้ 12 ลูก 13  ลูก  หรือ  14  ลูก  แล้วนำมาร้อยผืนระนาดด้วยเชือกเส้นโตขนาดเท่ากับเชือกผูกวัว   เวลาเล่นใช้แขวนเป็นแนวเฉียงลงมาทำมุมประมาณ 60 องศากับพื้น ให้ด้านลูกใหญ่เสียงทุ้มอยู่ตอนบนและด้านลูกเล็กสั้นและเสียงแหลมอยู่ตอนล่าง   การเคาะโปงลางมักใช้ผู้เล่น 2  คน  คนเล่นทำนองเพลงจะเข้าเคาะทางด้านหน้าของผืนโปงลาง  เรียกว่าเป็น หมอเคาะ อีกคนหนึ่งเข้าเคาะข้างขวามือของหมอเคาะ   มีหน้าที่เคาะเสียงประสานและทำจังหวะเรียกเป็น หมอเสิร์ฟไม้ที่นำมาทำลูกโปงลางนั้นนิยมใช้ไม้มะหาด(ไม้หมากหาด)  ซึ่งมีขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วไปไม้ชนิดนี้มีเปลือกเหนียวแข็งไม่บิด แตกเป็นเสี้ยน เวลาแห้งแล้วเคาะมีเสียงดังดีมาก ยิ่งเป็นไม้มะหาดจากต้นที่ยืนตายยิ่งเสียงดีเป็นพิเศษ  ช่างทำโปงลางบางคนจึงตัดเซาะเผารากต้นมะหาด แล้วปล่อยให้ยืนต้นตายก่อนโค่นมาทำลูกโปงลาง
          ไม้ชนิดอื่นๆนำมาทำลูกโปงลางได้ คือ ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้มะค่าแต้  เป็นต้น
ความเป็นมาของโปงลาง ชื่อโปงลางนี้เกิดขึ้นผ่านหลัง  มีตำนานเล่าว่าเกิดจากชื่อของ ลายแคน(เพลงแคน)ชื่อหนึ่งซึ่งหมอแคนในขบวนต้อนวัวไปขายเป็นผู้คิดทำนองขึ้น  เรื่องมีอยู่ว่า สมัยก่อนเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ชาวอีสานผู้กล้าหาญมักจะรวมกันเข้าเป็นคณะกว้านซื้อวัว ควาย ม้า ในราคาท้องถิ่นซึ่งราคาถูกมาก เมื่อได้จำนวนมากพอแล้วก็จะจัดขบวนคาราวานต้อนฝูงสัตว์เหล่านั้นล่องลงไปขายเอากำไรถึง 3-4 เท่า ยังภาคกลาง แถวสระบุรี  นครนายก  ปราจีนบุรี  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ในคณะหนึ่งๆของคาราวานต้อนสัตว์จะมีหัวหน้าคณะซึ่งได้รับสมญาว่า นายฮ้อย  ( เทียบได้ตำแหน่งนายร้อยในกองทหารนั่นเอง )   เป็นผู้ควบคุมขบวน และในขบวนนั้นจะใช้วัวต่างตัวพิเศษ 2 ตัวผูกคอด้วย โปงลาง ซึ่งเป็นกระดึงโลหะ ลูกค่อนข้างโตให้ตัวหนึ่งนำหน้าขบวน อีกตัวหนึ่งตามสุดท้ายของขบวน  เพื่อเป็นตัวให้สัญญาณว่าขบวนหน้าถึงไหนแล้วและขบวนหลังหักออกไปเท่าไหร่ จากสัญญาณเสียงกระดึงหรือโปงลางที่ผูกคอของวัวทั้งสองตัวพิเศษนี้ จะทำให้ขบวนทั้งขบวนเกาะกลุ่มกันได้ บางครั้งเมื่อขบวนผ่านมาทั้งแคบหว่างช่องเขา เสียงโปงลางนี้ยังบอกให้ขบวนอื่นที่อาจสวนทางมาหรืออยู่ข้างหน้าทราบ แล้วหาทางหลบหลีกกันได้ก่อนที่จะพาฝูงสัตว์ปะปนกันซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสัตว์ชนกันหรือแยกฝูงกันเกิดตามมาขณะที่วัวต่างแขวนโปงลางเดินเลาะไปตามเชิงเขา โปงลางก็ย่อมจะกวัดแกว่งไปตามลีลาของวัวเกิดเสียงดัง โปงหล่าง-โปงหล่าง วิเวกวังเวงไปทั่วหุบเขา หมอแคนที่มาในขบวนคาราวานเกิดความบันดาลใจคิดประดิษฐ์เพลงแคน ( ลายแคน ) เลียนเสียงโปงลางนั้น เมื่อเป่าให้เพื่อนฟังเวลาตั้งค่ายพักแรมก็ได้ความนิยมชมชอบเป็นอันมาก เพราะเป็นลายแคนอันไพเราะ ยิ่งต่างคนต่างไปไกลบ้านความคิดถึงบ้านยิ่งทำให้ฟังแคนไพเราะวิเศษยิ่งขึ้นไปอีก
          ภายหลังมาเมื่อลายแคนลายโปงลางถูกถ่ายทอดกันไปเป็นทอดๆแบบเดียวกันกับเพลงพื้นเมืองทั้งหลาย บังเอิญมีนักดนตรีผู้หนึ่งเคาะระนาดเกราะลอ  ทำนองลายโปงลางอยู่ในไร่ของเขา เพื่อนฝูงได้ยินเสียงเพลงอันไพเราะต่างก็ติดตามเสียงเพลงมาดู แล้วถามว่ากำลังตีอะไร  หมอก็ตอบว่า กำลังตีลายโปงลาง คนฟังเพี้ยนไปว่ากำลังตีโปงลาง เครื่องดนตรีระนาดเกราะลอก็ได้รับการถ่ายทอดกันต่อๆมาว่าคือ โปงลาง ฟังแล้วก็คล้าย ๆ  ฟังนิทานเหมือนกัน