ดนตรี  หมายถึง  เครื่องบรรเลงมีเสียงทำให้เกิดความเพลิดเพลิน  สนุกสนานทำให้อารมณ์คล้อยตามเสียงที่เกิดขึ้นเป็นทำนอง ( พจนานุกรมไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.   2513 )

            ดนตรี  หมายถึง  เครื่องบรรเลงมีเสียงและระเบียบ  เป็นศิลปะแห่งการผลิตเสียงอันไพเราะที่มีธาตุประกอบเป็นทำนอง  จังหวะ  เสียงประสาน  ( สำเร็จ  คำโมง.  2537  :  1  อ้างอิงจาก Hornby and  Parnwell  1979  :  339 )  เสียงดนตรีที่นำมาเรียบเรียงเป็นทำนองและเสียงประสานต้องสอดคล้องกับจังหวะอย่างกลมกลืนและมีระบบ

             ดนตรีพื้นบ้าน (Folk  Music)  หมายถึง  ดนตรีที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้าน  ที่นำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี  ตามภูมิปัญญาของตน  เพื่อความบันเทิงและสนองต่อความเชื่อของตน  ดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมจะเป็นเพียงการขับร้อง  แต่ต่อมาชาวบ้านได้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีขึ้นใช้บรรเลงประกอบการขับร้องนั้น  ( จารุวรรณ  ธรรมวัตร.  ม.ป.ป.  :  119-128)

             ดนตรีพื้นบ้านอีสาน  หมายถึง  ดนตรีที่เกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสาน  ในการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทางภาคอีสานมาคิดประดิษฐ์ทำเครื่องดนตรี  สำหรับใช้ประกอบการขับร้องแบบดั้งเดิม  มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1.  ไม่มีการบันทึกเป็นตัวโน้ต  แต่ชาวบ้านจะจดจำหรือฝึกร้องกันแบบปากต่อปาก
              2.   เป็นเพลงสั้น ๆ แต่ร้องย้อนวนไปวนมาหลาย ๆ ครั้ง  เมื่อเห็นสมควรก็จะลงจบ
              3.   เพลงพื้นบ้านดั้งเดิมจะไม่มีดนตรีประกอบ  ต่อมาเมื่อมีการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นเครื่องดนตรีจึงได้นำเอามาบรรเลงประกอบการขับร้อง  เช่นนำไม้เนื้อแข็งมาประกบกัน  2  คู่  โดยใช้มือทั้งสองข้างเล่น  เรียกว่า  กั๊บแก๊บ ประกอบการลำที่เรียกว่า  หมอลำกั๊บแก๊บ  หรือ ไม้เนื้อแข็ง(มะหาด) นำมาทำเป็น โปงลาง   ใช้บรรเลงโปงลาง  ลำประกอบเรียกว่า  ลำเซิ้งโปงลาง

               การขับร้องและการเล่นเครื่องดนตรีของแต่ละท้องถิ่น  ในภาคอีสานมีความแตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมด้านดนตรีและวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ เช่นวัฒนธรรมทางด้านภาษา  วัฒนธรรมการแต่งกาย  วัฒนธรรมด้านชีวิตความเป็นอยู่  เป็นต้น