ลักษณะดนตรีพื้นบ้านอีสาน

 

 

          เพลงพื้นบ้านอีสาน  เป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดสืบต่อกันมานานในชนเผ่า ๆ  ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน  เพลงพื้นบ้านอีสานที่นิยมเล่นมีลักษณะที่เป็นเอลักษณ์เฉพาะ  ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น ๆ  ดัง  ( วิรัช   บุษยกุล  :  2522 )   ได้เขียนบรรยายความจากข้อเขียนของอาจารย์เจริญชัย  ชนไพโรจน์  ถึงลักษณะดนตรีพื้นบ้านอีสาน โดยทั่วไปดังนี้  
          - ใช้บันไดเสียงแบบ  5  เสียง ( Pentotonic  Scale)
          - ท่วงทำนองออกไปทางบันไดเสียง  ไมเนอร์  จึงแฝงด้วยสำเนียงค่อนข้างจะได้อารมณ์เศร้า
          - การประสานเสียงในเพลงไม่มีรีระบบ  แต่สามารถบอกถึงลักษณะบันไดเสียงเป็นแบบไมเนอร์
          - ทำนองเพลงประกอบด้วยประโยคสั้น ๆ  แต่สามารถบรรเลงวกไปเวียนมาซ้ำๆ หลายครั้งตามต้องการจึงสามารถบรรเลงได้นานเท่าใดก็ได้
           - ความช้า เร็ว ของจังหวะอยู่ในระดับปานกลาง  ไปจนถึงจังหวะค่อนข้างเร็ว
           - โครงสร้างของทำนองประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ทำนองเกริ่นทำนองหลัก(Theme)   และทำนองย่อย  (Variations)
            - ทำนองเพลงพื้นบ้านชาวบ้านเรียกว่า   ลาย  คือทำนองโดยการจดจำไม่มีการบันทึกโน้ตเพลง  และไม่ค่อยมีการแต่งเติมลายจึงไม่มีมากนัก

ลักษณะเพลงลูกทุ่งหมอลำ 

           ปัจจุบันเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันในภาคอีสาน  จะเป็นเพลงที่มีลักษณะเป็นการประยุกต์  หรือที่เรียกว่า  เพลงลูกทุ่งหมอลำ  มีลักษณะดังนี้
            - เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่ประทับใจผู้ฟัง  ที่มีทำนองหมอลำสลับกับทำนองเพลง  โดยทั่วไป  บางทีมักจะเรียกเพลงประเภทนี้ว่า  เพลงลูกทุ่งหมอลำ  เช่น  เพลงมักสาวปากแป  ขับร้องโดยโอ๋  เอ๋  และ เพลงตามใจแม่ ขับร้องโดย  สาธิต  ทองจันทร์  เพลงผู้บ่าวเมียเผอ  ขับร้อง  อภัสรา  เป็นต้น
             - เพลงที่ใช้เครื่องดนตรี อเล็กทรอนิกส์ บันทึกเสียง  เช่น  ออร์แกน  กีตาร์ไฟฟ้า  เบสส์  แทนเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านซึ่งได้แก่  พิณ  แคน  ซอ  เป็นต้น
             - เป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน  มีจังหวะกระชับหนักแน่นและเร็วเครื่องประกอบจังหวะมีความสำคัญพอ ๆ กับเสียงขับร้องเพลงที่มีลักษณะดังกล่าวได้แก่  หมอลำซิ่ง  ลำเดิน  และลำเพลินเพลงเหล่านี้จะมีจำหน่ายที่ร้านขายเทปและซีดีทั่วไปตามท้องตลาด
              - เพลงบรรเลงด้วยวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน  ที่มีเครื่องดนตรีครบทุกกลุ่มเรียกว่าวงโปงลาง   ประกอบด้วย  โปงลาง  พิณ  แคน  โหวด  เบส  กลองรำมะนา   กลองยาวอีสาน  กั๊บแก๊บ  ไห  ซออีสาน   วงที่บรรเลงตามรูปแบบวงโปงลางได้แก่  วงดนตรีพื้นบ้านอีสานของสถาบันการศึกษาทั่วไปในภาคอีสาน หรือปัจจุบันมีเล่นแถบทุกภูมิภาคของประเทศ
               - ทำนองเพลงพื้นบ้านที่นิยมบรรเลงหรือขับร้องมากที่สุด  คือ  ทำนองลายเต้ย โขงซึ่งมีลักษณะบันไดเสียงที่ใช้แบบเพนตาทอ  มี  5    เสียง  คือ   เสียง  โด   เร   มี  ซอล   ลา  มี  ทำนองเพลงลายเต้ยโขง  ใช้ทั้งในเพลงไทยสากลได้แก่  เพลงขุนโขง ของ ม.ร.ว. ถนัดศรี  สวัสดิวัฒน์  ในเพลงลูกทุ่งของพรศักดิ์  ส่องแสง  หลายเพลงและเพลงหมอลำที่เรียกว่า ลำเต้ย และลำเดิน นับได้ว่าเพลงพื้นบ้านอีสาน  เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวบ้านที่สืบทอดกันมา  โดยศิลปินชาวบ้านมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ายุคสมัยนั้น ๆ จนปัจจุบันก็ได้รับความนิยมจากผู้ฟังและผู้บรรเลงอย่างกว้างขวาง และรูปแบบด้านจังหวะ ทำนอง  การใช้เครื่องดนตรีบรรเลงอาจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างตามอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ  ซึ่งเป็นความเจริญทางด้านเทคโนโลยี  ผู้ศึกษาจึงควรพิจารณาถึงข้อดี  ข้อเสีย  เพื่อจะดำเนินการรักษาและส่งเสริมพัฒนาต่อไป